เส้นสายระบายสีธรรมชาติ
11 พฤศจิกายน 2021“รวมมิตร สมุนไพรในอาหาร”
11 พฤศจิกายน 2021“ทานอาหารปรับธาตุ ร่างกายแข็งแรง”
ทานอาหารปรับธาตุ ร่างกายแข็งแรง
ก่อนอื่นคงจะต้องอธิบายก่อนว่า ตามหลักการแพทย์แผนไทยนั้น คนเราประกอบด้วยธาตุ 4 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ซึ่งแต่ละคนจะมีธาตุเหล่านี้ในร่างกายแตกต่างกัน โดยแบ่งกลุ่มจากธาตุที่มีมากในร่างกายได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ชาวกผะ (มีธาตุหลัก คือ ธาตุดินและน้ำ) ชาววาตะ (มีธาตุหลัก คือ ธาตุลม) และ ชาวปิตตะ (มีธาตุหลัก คือ ธาตุไฟ) ซึ่งการกำหนดธาตุเจ้าเรือนนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายตำราโดยการจำแนกธาตุเจ้าเรือนก็แตกต่างกันไป บางตำราก็กำหนดจากวันเดือนปีเกิด แต่บางตำราก็ใช้วิธีประเมินจากลักษณะร่างกาย พฤติกรรมการกิน การย่อย การขับถ่าย รวมทั้งลักษณะนิสัย โดยธาตุเจ้าเรือนแต่ละธาตุจะมีสมดุลของร่างกายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือนของตนเองจะส่งผลให้ร่างกายเกิดสมดุลของธาตุที่ดี ทำให้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยได้ง่าย
กลุ่มแรกที่เราจะพูดถึงก็คือ ธาตุลม หรือ “วาตะ”
ตามหลักการแพทย์แผนไทย ลักษณะของชาววาตะ เป็นผู้ที่มีธาตุลมเป็นหลัก จึงมีลักษณะ แห้ง เบา และเย็น หรือคนธาตุลมมีลักษณะดังนี้คือ เป็นคนผอม ลดน้ำหนักได้ง่ายแต่เพิ่มยาก ผิวแห้ง คิดพูดทำอะไรรวดเร็ว ว่องไว วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ลังเล มีความคิดสร้างสรรค์ดีมากแต่ไม่ค่อยตั้งใจทำ มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อาหารไม่ย่อย ท้องอืด จุกเสียด ท้องผูก เป็นต้น โรคหอบหืด อาจมีอาการปวดกระดูกและข้อ มักนอนไม่หลับและฟุ้งซ่านได้ง่าย
การรับประทานอาหารเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ควรเลือกอาหารที่มีคุณสมบัติ หนัก ชุ่มชื้น ร้อน และเผ็ดร้อนพอสมควร โดยการรับประทานอาหารที่มีรส เปรี้ยว เค็ม หวาน จะช่วยเพิ่มธาตุดินและน้ำ ช่วยให้ชาววาตะแข็งแรง และชุ่มชื้นขึ้น ในส่วนของรสเผ็ดร้อน จะช่วยให้การทำงานของระบบย่อยอาหารดีขึ้น โดยวิธีการปรุงอาหารนั้นควรเลือกแบบผัดกับน้ำมันหรือใส่กะทิ จะช่วยลดความแห้งของชาววาตะได้ แต่ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทของทอดหรือของมันมากเกินไป
ชาววาตะควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสขม ฝาด เผ็ดร้อนมากเกินไป และเนื้อสัตว์ปริมาณมาก เนื่องจากระบบย่อยอาหารของชาววาตะไม่ค่อยดี หากรับประทานจะเกิดอาการท้องอืด จุกเสียดได้ง่าย เมนูแนะนำสำหรับชาว “วาตะ” หรือ คนธาตุลม ได้แก่ น้ำพริกมะดันผักจิ้ม แกงเขียวหวานปลากรายคะน้าผัดน้ำมันหอย กล้วยบวชชี น้ำตะไคร้ มะละกอ สับปะรด
ต่อมาที่กลุ่มของชาวธาตุไฟอย่าง “ปิตตะ”
“ธาตุไฟคือความร้อนแรง พร้อมแผดเผาทุกสิ่ง แรงอีก แรงอีก..!” เรา ๆ อาจจะเคยได้ยินประโยคเด็ดประโยคดังนี้จากละคร “ธิดาซาตาน 2021” กันมาบ้างตามสื่อต่าง ๆ ที่มีการพูดถึงพลังธาตุไฟที่มีอยู่ในตัวละคร “เพลิงพิศ” แต่จริง ๆ แล้วธาตุไฟ หรือ ในทางแผนไทย เรียกว่า “ปิตตะ” นั้น ไม่ได้มีพลังแบบ “เพลิงพิศ” หรอกนะครับ ในทางแพทย์แผนไทยชาวปิตตะ จะมีลักษณะ เป็นผู้ที่มีธาตุไฟเป็นหลัก น้ำหนักปานกลาง หิวเก่ง กินจุ แต่ควบคุมน้ำหนักได้ดี ผิวละเอียด แพ้เป็นผื่นแดงง่าย ขี้ร้อน เหงื่อเยอะ มีแนวโน้มธาตุไฟกำเริบได้ง่ายแสดงให้เห็นด้วยอาการร้อนใน แผลในปาก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเสีย โรคตับ และน้ำดี ผิวหนังเป็นผื่นแดง แพ้และอักเสบง่าย
รสอาหารที่มีความเหมาะสมกับคนร้อนแรงอย่างชาวปิตตะ ได้แก่รสหวาน ขม ฝาด และจืดเย็น มีพลังเย็นช่วยลดความร้อนและเพิ่มความชุ่มชื้น ชาวปิตตะควรเสริมอาหารรสเผ็ดเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยย่อยอาหาร อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารทะเล เนื้อและหมูติดมัน ถั่ว อาหารเผ็ดจัด น้ำมันพืชควรใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันทานตะวัน
หากท่านกำลังประสบปัญหาคิดไม่ออกว่าเมนูไหนเหมาะกับคนฮ็อต ๆ ร้อนแรง ๆ แบบชาวธาตุไฟล่ะก็ เรามีตัวอย่างที่เหมาะสมต่อคนธาตุไฟมาให้ลองเลือกทานกันหลายเมนู ได้แก่
น้ำพริกอ่องผักสด ชาวปิตตะไม่ควรรับประทานอาหารที่มีความเผ็ดร้อนมาก น้ำพริกอ่องที่มีรสเปรี้ยวเค็มหวาน และเผ็ดเล็กน้อย แนมด้วยผักสด เพิ่มพลังเย็น ช่วยรักษาสมดุลไม่ให้ธาตุไฟมากเกินไป แกงจืดฟักเขียวและมะระ ส่วนประกอบอย่างฟักมีรสจืดและเย็น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ส่วนมะระมีรสขมช่วยลดความร้อน ควรต้มกับซี่โครงหมูที่ไม่มีมันถึงแม้ว่าชาวปิตตะจะมีไฟสำหรับย่อยอาหารได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ารับประทานอาหารที่ย่อยยาก เช่นโปรตีนและไขมันไฟก็จะมากตามไปด้วย ทำให้เสียสมดุลได้ง่าย
ไก่ย่าง เมนูนี้หลายคนอาจจะคิดว่าโปรดปรานแน่นอน เพราะส่วนน่องสะโพกล้วนมีเนื้อสัมผัสที่น่ากัดกิน แต่ที่เรากำลังจะแนะนำคือส่วนของ “อกไก่” ที่สำคัญจะต้องเป็น “อกไก่ไร้หนัง” ด้วยนะ เพราะเหมาะกับชาวปิตตะ เพราะย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์อื่น ๆ และไม่ค่อยมัน เลื่องการปรุงสุกด้วยการทอดในน้ำมัน ใช้วิธีย่างหรือนึ่งจะดีกว่า หมักด้วยเครื่องเทศสมุนไพรจะช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น
ในส่วนของของหวานก็จะเป็น ไอศกรีมเชอเบททับทิม เพื่อช่วยลดความร้อน แต่ไม่ควรจะทานไอศกรีมใส่นมเพราะจะทำให้ธาตุไฟกำเริบได้ ในส่วนผลไม้ แตงโม มังคุด และน้ำมะพร้าว นั้นเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน เหมาะที่จะช่วยรักษาสมดุลของธาตุไฟไว้ได้
กลุ่มสุดท้ายที่ภาษาทางแผนไทยเรียกว่า “กผะ”
ถ้าถามว่าชาวกผะ เป็นใคร ก็ต้องอธิบายกันก่อนว่า ตามหลักการแพทย์แผนไทย ระบุว่า ชาวกผะเป็นผู้ที่มีธาตุดินและน้ำมาก จึงมีลักษณะ ชุ่มชื้น หนัก และเย็น ชาวกผะมีน้ำหนักตัวมาก รูปร่างใหญ่ มีแนวโน้มอ้วนง่าย ลดน้ำหนักได้ยาก มีความหิวค่อนข้างสม่ำเสมอ ผิวขาว นุ่ม
ชาวกผะมีนิสัยอ่อนโยน รักความสงบ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ขี้หวง ชอบทำมากกว่าคิด แต่จะไม่ชอบเผชิญหน้าและหลีกเลี่ยงปัญหา เกิดโรคของธาตุดินและน้ำ อย่างเช่น หัวใจ ไขมันในเลือดสูง และเบาหวานได้ง่ายกว่าธาตุอื่น
ลักษณะอาหารที่เหมาะแก่การรักษาสมดุลของร่างกาย จะเป็นอาหารที่มีคุณสมบัติแห้ง เบาร้อน และไม่มัน โดยควรรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน ช่วยในการเผาผลาญอาหารและกระตุ้นการตื่นตัว ส่วนรสขมและฝาดจะช่วยควบคุมหรือลดกผะให้อยู่ในสมดุล นอกจากการกินแล้วการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ รสหวาน เปรี้ยว เค็ม และไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีมันมากและควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด และของมัน ๆ มาถึงขนาดนี้แล้วก็ต้องยกตัวอย่างสำรับอาหารที่เหมาะกับชาวกผะกันสักหน่อย เริ่มที่เมนูแรกได้แก่
“แกเลียงกุ้งสด” รสเผ็ดร้อนจากสมุนไพรต่าง ๆ ในเมนูนี้ เช่น พริกไทย กระชาย ช่วยให้การเผาผลาญของชาวกผะในมื้อนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การรับประทานผักยังช่วยลดแคลลอรี่ จึงเหมาะกับชาวกผะที่มีแนวโน้มอ้วนได้ง่าย
ต่อที่เมนูของคาวอีกเมนูนั่นก็คือ “มะระผัดไข่” ผักรสขมอย่าง “มะระ” มีคุณสมบัติเย็น เบาและแห้ง เหมาะกับชาวกผะ ช่วยเพิ่มการทำงานของธาตุลม ทำให้ที่มีโครงสร้างใหญ่เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น และลดน้ำหนักชาวกผที่อ้วนง่าย จึงควรผัดด้วยน้ำมันน้อย ๆ ส่วนไข่เป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายสำหรับชาวกผะ
อีกหนึ่งเมนูที่อร่อยและดีต่อร่างกายของชาวกผะขอแนะนำเป็น “ปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว” เนื่องจากชาวกผะจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก อาหารมัน หรืออาหารที่ปรุงสุกด้วยวิธีการทอดใด ๆ จึงควรเลือกทานปลาที่ปรุงสุกโดยใช้วิธีนึ่ง ในเมนูที่มีพริกและขิงที่มีความเผ็ดร้อนเป็นส่วนประกอบอย่างเมนูนี้จะช่วยเสริมธาตุไฟ ทำให้ระบบท้องของชาวกผะดีขึ้น
หมดอาหารคาวไปแล้วจะขาดอาหารหวานไม่ได้อย่างแน่นอน ของหวานสำหรับชาวกผะนั้นจะขอยกตัวอย่างเป็น “มันเทศต้มขิง” (บางคนอาจจะเริ่มบ่นอุบแล้วว่า หวานตรงไหนกัน) แต่ที่แนะนำเมนูนี้ก็เพราะว่า ของหวานนั้นไม่เหมาะกับชาวกผะ แต่ว่าเมนูนี้ รสหวานไม่มากจะช่วยเสริมธาตุดิน ทั้งยังแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญต่อร่างกาย ขิงยังช่วยกระตุ้นธาตุไฟ ทำให้ชาวกผะมีชีวิตชีวาและกระฉับกระเฉงมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะ เพราะจะขาดการทานผลไม้ไปไม่ได้เลย ชาวกผะควรรับประทานผลไม้ที่มีเส้นใยมาก อย่าง “แอปเปิ้ลและส้ม” เพราะเป็นผลไม้ที่ไม่หวานมากมีรสฝาดแทรก นอกจานี้ยังมี ทับทิม ฝรั่ง ผลไม้ตากแห้ง ที่เหมาะกับชาวกผะอีกเช่นกัน
“หวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์อย่างมาก ในการช่วยให้ทุกท่านสามารถรักษาสมดุลของร่างกายไว้ได้นะครับ เพราะการรับประทานอาหารที่สมดุล จะทำให้ร่างกายสมดุล และไม่ป่วยง่ายนะครับ”