ชุมเห็ดเทศ & ตองแตก
17 กันยายน 2021
ฟ้าทะลายโจร (ทุกคนรู้แฟนคลับรู้ ปลูกฟ้าทะลายโจรไม่ยาก)
17 กันยายน 2021
ชุมเห็ดเทศ & ตองแตก
17 กันยายน 2021
ฟ้าทะลายโจร (ทุกคนรู้แฟนคลับรู้ ปลูกฟ้าทะลายโจรไม่ยาก)
17 กันยายน 2021

ย่านาง & เท้ายายม่อม

ย่านาง & เท้ายายม่อม
(คู่สมุนไพรแก้ไข้จาก ตำรับยาห้าราก)

สมุนไพรที่จะถูกหยิบมาเขียนถึงในวันนี้ อยู่ในตำรับยาแก้ไข้ที่มีชื่อว่า “ยาเบญจโลกวิเชียร” หรือบางคนอาจจะรู้จักกันในชื่อ อื่น ๆ ได้แก่ ยาห้าราก ยาแก้วห้าดวง หรือยาเพชรสว่าง ซึ่งเป็นตำรับยาแผนโบราณของไทยที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนานนการแก้ไข้ กระทุ้งพิษ หรือถอนพิษต่าง ๆ โดยตำรับยานี้ จะใช้รากของสมุนไพร 5 ชนิดในอัตราส่วนที่เท่ากันได้แก่ ย่านาง (Tiliacora triandra (Colebr.) Diels) เท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze) มะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa L.) ชิงชี่ (Capparis micracantha DC.) และคนทา (Harrisonia perforata (Blanco) Merr.) แต่วันนี้เราจะหยิบมาให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้ทำความรู้จัก แค่ 2 ชนิด ก็คือ ย่านาง และเท้ายายม่อม

เริ่มที่ชนิดแรก “ย่านาง” อยู่ในวงศ์ MENISPERMACEAE ลักษณะโดยทั่วไปเป็นไม้เถา ใบเดี่ยว เรียงตัวแบบสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก ดอกช่อ ไม่มีกลีบดอก ออกตามเถาและที่ซอกใบ ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ผลกลุ่ม

 

ย่านางเป็นทั้งยาสมุนไพร และผักพื้นบ้านที่สุดแสนจะมีประโยชน์ เพราะมีวิตามินเอและวิตามินซีสูง คนอีสานนิยมนำมาประกอบอาหาร ได้แก่ ซุปหน่อไม้ แกงหน่อไม้ใบย่านาง แกงเห็ดใบย่านาง เป็นต้น ซึ่งตามตำรายาโบราณ ย่านาง ถือเป็นยาเย็น ใช้ดับพิษและลดไข้ โดยใช้ ราก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ เช่น ไข้พิษ ไข้เหนือ ไข้หัด สุกใส ขับกระทุ้งพิษไข้ และแก้เบื่อเมา

ชนิดที่สอง “เท้ายายม่อม” อยู่ในวงศ์ LAMIACEAE ลักษณะของต้นเท้ายายม่อม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือรอบข้อ รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกลับ ดอกช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ผลสดรูปทรงกลม เมื่อสุกสีดำ มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ในตำรายาโบราณกล่าวว่า รากของเท้ายายม่อมเป็นยาเย็นเช่นเดียวกับย่านาง มีสรรพคุณ แก้ไข้ นอกจากนี้ยังถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย

 

แน่นอนเมื่อพูดถึงสมุนไพร ก็จะต้องใช้ให้ถูกต้อง หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า “เท้ายายม่อม” กับ “ท้าวยายม่อม” นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หลายคนเริ่มอุทาน “เอ๊ะ หืม หา” พร้อมตั้งคำถามอยู่ที่หน้าจอว่า “จริงเหรอ” แน่นอนว่าจริง เพราะ “เท้ายายม่อม” ที่เป็นสมุนไพรในตำรับยาเบญจโลกวิเชียร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze) ส่วนอีกต้นที่มีชื่อเหมือนแต่สะกดต่างว่า “ท้าวยายม่อม” นั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze อยู่ในวงศ์ DIOSCOREACEAE มีหัวใต้ดิน สามารถนำ หัวใต้ดินมาทำเป็นแป้งสำหรับใช้ในการทำขนมต่าง ๆ ได้เช่น ขนมชั้น ขนมเปียกปูนหรือขนมน้ำดอกไม้ ขนมกรวย ขนมกล้วย ขนมกงหรือขนมกงเกวียน แต่ต้นเท้ายายม่อม ที่เป็นบุกนั้นไม่มีสรรพคุณในการลดไข้นะครับ ดังนั้นควรจะเลือกให้ถูกต้นก่อนนำมาใช้นะ คุณผู้อ่านทุกท่าน