“เปิดกรุ…ท่าบริหารเอกลักษณ์ของชาติไทย”
17 กันยายน 2021
ข่า อาหารเป็นยาคู่ครัวไทย
17 กันยายน 2021
“เปิดกรุ…ท่าบริหารเอกลักษณ์ของชาติไทย”
17 กันยายน 2021
ข่า อาหารเป็นยาคู่ครัวไทย
17 กันยายน 2021

ดอกแค….พันธุ์ไม้ที่มากับสายฝน

ดอกแค….พันธุ์ไม้ที่มากับสายฝน

ถ้าจะให้ทุกท่านลองนึกถึงเมนูอาหารไทยสักหนึ่งชนิด ที่คนไทยรับประทานเป็นประจำในช่วงฤดูฝนไปจนถึงต้นฤดูหนาว หนึ่งในนั้นก็คงจะหนีไม่พ้น แกงส้มดอกแค รสชาติจัดจ้าน เปรี้ยวหวานเค็มกลมกล่อม สำรับอาหารที่นอกจากอร่อยลิ้นแล้วยังซ่อนภูมิปัญญาไทยในการดูแลสุขภาพไว้อีกด้วย

แค จะเป็นแคบ้านสีขาว หรือแคแดง สีชมพูแดงสวย เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sesbania grandiflora (L.) Poir. เป็นพืชวงศ์เดียวกับถั่ว (Fabaceae) รูปลักษณ์หลายอย่างจึงคล้ายกัน แคเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 10 เมตร ใบเป็นใบประกอบ รูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ลักษณะคล้ายดอกถั่ว กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกเจอได้ทั้งสีขาว และสีแดง-ชมพู

คำบอกเล่าของผู้ใหญ่ที่บอกต่อกันมา รับประทานแกงส้มดอกแคช่วยแก้ไข้หัวลมได้ดีทางการแพทย์แผนไทย ไข้หัวลม คืออาการไม่สบายที่มักเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลจากร้อนไปฝน จากฝนไปหนาว หรือจากหนาวไปร้อน ผุ้ป่วยมักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนจะเป็นไข้รู้สึกไม่สบายเนื้อตัว ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก เสมหะ น้ำตาไหล1 ไข้หัวลมมักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นจนทำให้ธาตุ ในร่างกายเสียสมดุล แพทย์แผนไทยจึงแนะนำให้ทานอาหารที่มีรสออกร้อน แกงส้มดอกแค จึงตอบโจทย์ทั้งจากการที่หาได้ง่ายเพราะเป็นผักพื้นบ้านที่ออกดอกเต็มต้นในฤดูฝน และยังรสชาติจัดจ้านจากเครื่องแกงที่ช่วยบำรุงธาตุให้สมดุล

นอกจากแกงส้มแล้ว คนไทยเรายังนำดอกและยอดอ่อนแคมาปรุงอาหารได้อีกหลายรูปแบบ ทั้งนำมาผัด หรือลวกเป็นเครื่องเคียงแกล้มกับน้ำพริก ทั้งยอดอ่อนและดอกแคเป็นผักพื้นบ้านที่มีอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด หากเรารับประทานดอกแค 100 กรัม จะได้ใยอาหาร (ช่วยในการขับถ่าย) มากถึง 7.2 กรัม มีโปรตีน 2.0 กรัม ในขณะที่พบไขมันเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้น ยังมีฟอสฟอรัสสูงถึง 57 มก. เบตาแคโรทีน 77 ไมโครกรัม และวิตามินซี 35 มก. ในขณะที่ยอดอ่อนแค 100 กรัม มีใยอาหาร 5.1 กรัม โปรตีนมากถึง 8.3 กรัม และยังอุดมไปด้วยแคลเซียมที่สูงถึง 395 มก. และวิตามินซี 84 มก. นอกจากนั้นยอดอ่อนและดอกแคยังมี พบธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 (thiamin) วิตามินบี 2 และวิตามินบี 3 อีกด้วย2

นอกจากสารอาหารแล้ว รายงานผลการวิจัยทั้งในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ยังแสดงให้เห็นประโยชน์ของแคอีกมากมาย สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบและดอก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคและยังส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียโพรไบโอติก (Lactobacillus acidophilus) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย3,4 สารสกัดของดอกและยอดอ่อนด้วยตัวทำละลายหลายชนิด5-7 5,8 มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยสารสำคัญคาดว่าเกิดจากสารกลุ่ม phenolics ซึ่งพบได้ทั้งในส่วนกลีบดอก เกสร ฐานรองดอก และยอดอ่อน3,4,8 มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (ยับยั้งการสร้าง NO ของเซลล์ macrophage)8,9 ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Acetylcholinesterase ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์8 ฤทธิ์ฆ่าพยาธิก่อโรคในไก่ได้ด้วย10 น้ำคั้นจากใบช่วยป้องกันและลดการเกิดนิ่วในไตของหนูทดลองที่ได้รับอาหารเหนี่ยวนำให้เกิดนิ่วจาก calcium และ oxalate7 นอกจากนั้นสารสกัดโปรตีนซึ่งสกัดได้จากดอก มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชลล์มะเร็ง11

 

“แค” ต้นไม้ประจำฤดูฝน ที่เราคุ้นเคยบนจานอาหารกันมาตั้งแต่เด็ก ที่นอกจากจะอร่อยแล้ว ยังเต็มไปด้วยความรู้และประโยชน์ที่ช่วยบำรุงสุขภาพของเราให้แข็งแรง อ่านบทความนี้จบแล้ว ก็ได้เวลาไปหาดอกแคมาอยู่ในจานอาหารของเรากันแล้ว

เอกสารอ้างอิง

1. คมสัน ทินกร ณ อยุธยา. ไข้หัวลม คือ ไข้สามฤดู. Facebook; 2563 [ปรับปรุง 6 มกราคม 2563; เข้าถึงเมื่อ 6 พฤษภาคม, 2563]. จาก: https://www.facebook.com/komsondinakara/posts/1301193963403270.
2. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. 2561.
3. China R, Mukherjee S, Sen S, Bose S, Datta S, Koley H, et al. Antimicrobial activity of Sesbania grandiflora flower polyphenol extracts on some pathogenic bacteria and growth stimulatory effect on the probiotic organism Lactobacillus acidophilus. Microbiological Research. 2012;167(8):500-6.
4. Padmalochana K, Rajan MSD. Antimicrobial activity of aqueous, ethanol and acetone extracts of Sesbania grandiflora leaves and its phytochemical characterization. International Journal of Pharma Sciences and Research. 2014;5(12):957-62.
5. Perumal Siddhuraju, Arumugam Abirami, Gunasekaran Nagarani, Marimuthu Sangeethapriya. Antioxidant capacity and total phenolic content of aqueous acetone and ethanol extract of edible parts of Moringa oleifera and Sesbania grandiflora. International Scholarly and Scientific Research & Innovation. 2014;8(9):1090-8.
6. Zarena AS, Gopal S, Vineeth R. Antioxidant, antibacterial, and cytoprotective activity of Agathi leaf protein. Journal of Analytical Methods in Chemistry. 2014;2014:989543.
7. Doddola S, Pasupulati H, Koganti B, Prasad KVSRG. Evaluation of Sesbania grandiflora for antiurolithiatic and antioxidant properties. Journal of Natural Medicines. 2008;62(3):300-7.
8. อนันต์ อธิพรชัย, วรางคณา จุ้งลก, สุวรรณา เสมศร. รายงานวิจัย โครงการการศึกษาทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของแคสำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา; 2561.
9. Sutradhar KB, Choudhury NF. Analgesic and CNS depressant activity of the crude extract of Sesbania grandiflora. International Current Pharmaceutical Journal. 2012;1(3):56-61.
10. Karumari RJ, Sumathi S, Vijayalakshmi K, Ezhilarasi S, Balasubramanian K. Anthelmintic efficacy of Sesbania grandiflora leaves and Solanum torvum fruits against the nematode parasite Ascaridia galli. American Journal of Ethnomedicine. 2014;1(5):326-33.
11. Laladhas KP, Cheriyan VT, Puliappadamba VT, Bava SV, Unnithan RG, Vijayammal PL, et al. A novel protein fraction from Sesbania grandiflora shows potential anticancer and chemopreventive efficacy, in vitro and in vivo. Journal of Cellular and Molecular Medicine. 2010;14(3):636-46.