ดอกแค….พันธุ์ไม้ที่มากับสายฝน
17 กันยายน 2021
ชุมเห็ดเทศ & ตองแตก
17 กันยายน 2021
ดอกแค….พันธุ์ไม้ที่มากับสายฝน
17 กันยายน 2021
ชุมเห็ดเทศ & ตองแตก
17 กันยายน 2021

ข่า อาหารเป็นยาคู่ครัวไทย

ข่า อาหารเป็นยาคู่ครัวไทย

ข่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ระดับชนิด (species name) ว่า Alpinia galanga (L.) Willd. เป็นพืชสมุนไพรที่ถูกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับขิง (Family Zingeberaceae) แต่อยู่คนละสกุล (genus) มีชื่อพื้นเมืองที่ใช้เรียกหลากหลายตามถิ่นที่อยู่ เช่น กฎุกกโรหินี (อ่านว่า กะ-ตุ-กะ-โร-หิ-นี) ข่าใหญ่ ข่าหลวง ข่าตาแดง เป็นต้น ข่าเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดินเจริญในแนวขนานกับผิวดิน ก้านใบแผ่ออกเป็นกาบทับซ้อนกันดูคล้ายส่วนของลำต้นที่โผล่พ้นดินใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก เส้นกลางใบขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน เส้นใบย่อยเรียงตัวในแนวขนานกัน ขอบใบมีลักษณะเป็นคลื่น ปลายใบแหลม ฐานใบสอบแหลม ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด มีแกนกลางช่อดอกชัดเจน ดอกย่อยแต่ละดอกมีก้านดอกย่อยและใบประดับเป็นของตัวเอง โดยดอกย่อยประกอบด้วยกลีบดอกที่เชื่อมกันเป็นหลอดและแยกกันตรงปลาย เมื่อโตเต็มที่แล้วจะกลีบดอกจะมีสีขาวปนม่วงแดง ดอกย่อยของข่ามีเกสรเพศเมีย 1 อัน มีเกสรเพศผู้ทั้งหมด 3 อัน ซึ่งเกสรตัวผู้ 2 อันจะเป็นหมันและเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจนมีลักษณะคล้ายกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ผลแห้งแก่แล้วแตก โดยข่าจะออกดอกประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน

แค จะเป็นแคบ้านสีขาว หรือแคแดง สีชมพูแดงสวย เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sesbania grandiflora (L.) Poir. เป็นพืชวงศ์เดียวกับถั่ว (Fabaceae) รูปลักษณ์หลายอย่างจึงคล้ายกัน แคเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 10 เมตร ใบเป็นใบประกอบ รูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ลักษณะคล้ายดอกถั่ว กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกเจอได้ทั้งสีขาว และสีแดง-ชมพู

ข่า เป็นสมุนไพรคู่ครัวไทยที่ใช้ในการประกอบอาหารไทยหลากหลายเมนูมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยส่วนของข่าที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารได้แก่ เหง้า ซึ่งเป็นส่วนของลำต้นที่อยู่ใต้ดิน เหง้าข่าอ่อนใช้ในการประกอบอาหาร เช่น เมนูต้มข่าไก่ เพื่อดับกลิ่นคาว ชูรสอาหาร และให้กลิ่นหอม หรือนำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆต้มเพื่อรับประทานเป็นเครื่องเคียง คนไทยมีภูมิปัญญาดั้งเดิมในการนำข่าที่หั่นเป็นชิ้นบาง ๆไปแช่ในน้ำที่ผสมน้ำมะนาว เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นข่าที่ฝานแล้วกลายเป็นสีดำ นอกจากนี้ยังช่วยให้ชิ้นข่าที่นำไปแช่นั้นเปลี่ยนเป็นสีขาวอมชมพูระเรื่อ และนำไปใส่น้ำต้มเดือดจัดๆ เพื่อให้น้ำมันหอมระเหยจากข่าอ่อน ระเหยออกมาชูรสอาหาร และทำให้เมนูอาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน นอกจากนี้คนไทยยังใช้เหง้าข่าแก่เป็นส่วนผสมในเมนูต้มยำ โดยเฉพาะต้มยำเนื้อ เพื่อดับกลิ่นคาวจากเนื้อสัตว์ และทำให้ต้มยำมีรสชาติกลมกล่อม หอมละมุนน่ารับประทาน สำหรับเมนูแกงนั้นคนไทยยังนิยมนำข่าแก่มาโขลกเป็นส่วนผสมในเครื่องแกง นอกจากข่าจะให้รสชาติและกลิ่นหอมละมุนกับเมนูอาหารแล้ว ข่ายังมีสรรพคุณทางยา ช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และอาการคลื่นไส้อาเจียนอีกด้วย

การผสมผสานสมุนไพรมาใช้เป็นเครื่องปรุงหรือวัตถุดิบในเมนูอาหาร นับเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำค่าอย่างหนึ่งของชาวไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะนอกจะกลิ่นและรสของสมุนไพรที่ใช้จะช่วยชูรสของอาหารให้อร่อยขึ้นแล้ว อาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรยังทำหน้าที่เป็นยาช่วยในการรักษาและป้องกันโรคภัยต่าง ๆให้กับร่างกายอีกด้วย การรับประทานข่าที่อยู่เมนูอาหารจึงมีคุณประโยชน์ทั้งในแง่ของการเสริมกลิ่นและรสเพิ่มความอร่อยให้มื้ออาหาร นอกจากนี้ยังได้สรรพคุณทางยาจากสมุนไพรชนิดนี้อีกด้วย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า การรับประทานข่าในปริมาณมากเพื่อการรักษาโรคหรือการรับประทานสารสกัดจากข่าควรใช้ในปริมาณเท่าใดจึงจะปลอดภัย ดังนั้นทางเลือกที่น่าพิจารณา คือการนำข่ามาเป็นองค์ประกอบในเมนูอาหาร

เอกสารอ้างอิง

1. ศิริเพ็ญ จริเกษม, ศิรินันท์ ทับทิมเทศ, ธัญวรัตน์ กาจสงคราม, อุบล ฤกษ์อ่ำ, จรัส ทิสยากร. 2548. น้ำมันหอมระเหยไทย. บริษัทเซเว่น พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด:กรุงเทพมหานคร.
2. P.N. Ravindran, G.S. Pillai, I. Balachandran, M. Divakaran, 15 – Galangal, Editor(s): K.V. Peter, In Woodhead Publishing Series in Food Science, Technology and Nutrition, Handbook of Herbs and Spices (Second Edition), Woodhead Publishing, 2012, Pages 303-318
3. Kaushik D, Yadav J, Kaushik P, Sacher D, Rani R. Current pharmacological and phytochemical studies of the plant Alpinia galanga. Zhong Xi Yi Jie He Xue Bao. 2011;9(10):1061-1065. doi:10.3736/jcim20111004
4. Alajmi MF, Mothana RA, Al-Rehaily AJ, Khaled JM. Antimycobacterial Activity and Safety Profile Assessment of Alpinia galanga and Tinospora cordifolia. Evid Based Complement Alternat Med. 2018;2018:2934583.
5. Saensouk, S., Chantaranothai, P., & Larsen, K. Notes on the genus Alpinia (Zingiberaceae) in Thailand. Thai Forest Bulletin (Botany), (31), 95-104.