ประวัติของโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

ความเป็นมา

เริ่มต้นในปี 2523 จากดำริของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์คณะเภสัชศาสตร์ ที่มีความประสงค์ให้พื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาเขตศาลายา มี “สวนสมุนไพร” ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรไทยเพื่อการศึกษา
และวิจัย โดยในระยะแรก ใช้ชื่อว่า “โครงการปลูกสวนสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์” ดำเนินการ
บนพื้นที่ 12 ไร่ จากนั้นมีการพัฒนาขยายพื้นที่เป็น 37 ไร่ รวบรวมพืชสมุนไพรประมาณ 600 ชนิด

ต่อมาในปี 2531 สวนสมุนไพรแห่งนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อว่า “สิรีรุกขชาติ” และ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด “สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ”
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ซึ่งสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาตินี้ บริหารและดำเนินงานโดยภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งในปี 2536 สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ได้รับรางวัล “มหาวิทยาลัยมหิดล ประเภทดีเด่นเฉพาะทาง สาขาการบริการ” และในปี 2539 ได้รับรางวัล “โครงการดีเด่นแห่งชาติ สาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านสมุนไพร
ประจำปี 2539” จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

 

ต่อมาในปี 2550 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มีดำริให้ยกระดับพื้นที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ และเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทยระดับประเทศและระดับนานาชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางด้านพฤกษศาสตร์ด้วย มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการปรับภูมิทัศน์และขยายพื้นที่เป็น 140 ไร่
เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ระดับสากลและรองรับกิจกรรมต่างๆ โดยมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงสมุนไพรในลานสมุนไพร จำนวน 7 ลาน รวมถึงสร้าง “ลานสมุนไพรเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ” แห่งแรกในประเทศไทย พร้อมทั้ง นิทรรศการถาวร ภายใต้แนวคิด “สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยสู่สากล” อีกทั้งยังจัดตั้ง “ศูนย์อ้างอิงทางพฤกษศาสตร์พืชสมุนไพรและเครื่องยา” เพื่อเป็นหน่วยงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์ และขยายพันธุ์ โดยทำงานร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (อพ.สธ.) ให้บริการวิชาการในรูปแบบการจัดกิจกรรม การอบรมทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติการแก่ผู้ที่มีความสนใจทุกกลุ่ม

ในวันที่ 22 เมษายน 2553 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี
พันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อสวนสมุนไพรใหม่ว่า “อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 10 มิถุนายน 2556

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานธรรมชาติฯ และเริ่มเปิดให้บริการกับนักเรียน นักศึกษา นักวิจัยและบุคคลทั่วไป อย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (มพิธีเปิดคลิก)

ต่อมาในปี 2560 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ได้แต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ภญ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ เป็นผู้จัดการอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ และในปี 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการแทนผู้จัดการอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ซึ่งจากการออกแบบพื้นที่ของอุทยานธรรมชาติฯ ให้เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ทั้งบุคคลทั่วไป ผู้พิการและผู้สูงอายุ ส่งผลให้อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็น “สถานที่อารยสถาปัตย์แห่งปี 2561 ประเภทแหล่งท่องเที่ยว Friendly Design” จากมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และในปีเดียวกันนี้ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติได้เข้าร่วมการประกวดรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น (Museum Thailand Awards) จัดขึ้นโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ซึ่งเป็นองค์กรภายในของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2018 “รองชนะเลิศอันดับ 1 สาขาพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม”

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ตามดำริของศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ” สังกัดสำนักงานอธิการบดี
มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรอย่างครบวงจร
มีพันธกิจเพื่อการศึกษา วิจัยและบริการวิชาการ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ เป็นรักษาการแทนผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

 

ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2564 อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ได้รับการรับรองจาก Botanic Gardens Conservation International (BGCI) ให้เป็น “สวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับสากล แห่งแรกในประเทศไทย” และ ในเดือนกันยายน 2564 อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ
ได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2021 ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม “รางวัลดีเด่น ด้านการอนุรักษ์และสืบสาน” รวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรจากตำรายาที่มีคุณค่าและหายากมากกว่า 900 ชนิด ได้รับการยกย่องว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่มีทั้งคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ และมาตรฐานพิพิธภัณฑ์ตามแบบสากล

 

ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 บริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เพื่อให้โครงการได้รับการจัดตั้งเป็น “สถาบัน” มีฐานะเป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ พ.ศ. 2564